คิดนอกห้องเรียน (think out of classroom)
“แปลกที่บางคนชอบสร้างกรอบหรือกะลาครอบตัวเอง ทั้งๆที่กรอบและกะลาไม่ได้มีอยู่จริง”
ในสมัยที่ผู้เขียนเป็นหนุ่ม(คนแก่เขาชอบพูดอย่างงี้) ยังเรียนหนังสืออยู่ ชอบนั่งหลังห้อง ข้อดี คือ มุมมองผมกว้างขึ้นรู้จักที่จะวิ่งตามหลังคนอื่นบ้าง ผมเลยไม่กลัวกับการแพ้มากนัก ที่สำคัญคือ ผมสามารถมองออกนอกห้องโดยที่คุณครูสอนอยู่หน้าห้องมองไม่เห็นผม ขณะที่หูฟังครูที่สอนในห้อง แต่ตากลับมองออกไปแสวงหาบทเรียนที่อยู่นอกห้อง
พอขึ้นมาสมัยมหาวิทยาลัย อิสรภาพเต็มที่ไกลพ่อ ไกลแม่ ที่สำคัญเข้าเรียนหรือไม่เราจัดการชีวิตได้เอง บอกตามตรงว่าชีวิตในห้องเรียนผมน้อยลงไปเยอะ กลับพาตนเองหาวิชานอกห้องเรียนมากขึ้น และยิ่งโชคดีไปกว้านั้น คือ สาขาวิชาสิ่งแวดล้อมที่ผมเรียน อาจารย์ต้องพาออกนอกห้องเรียนบ่อยๆเพื่อให้เห็นความเป็นจริง อาจารย์เหมือนจะบอกเป็นนัยๆว่า “ไม่มีใครเรียนสิ่งแวดล้อมแบบมานั่งเทียนแล้วจะเข้าใจสิ่งแวดล้อมได้”
การใช้ชีวิตนอกห้องเรียนของผมสร้างวิธีคิดแบบที่เรียกว่า “วิธีคิดแบบคิดนอกห้องเรียน (think out of classroom)” (อาจจะล้อๆแนวคิดแบบนอกกรอบแต่ก็ทำนองเดียวกัน) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดจากการพาตัวเองไปสู่ประสบการณ์ใหม่ๆโดยคาดหวังว่า มวลประสบการณ์เหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ในอนาคต คล้ายๆกับการสะสมวัตถุดิบเพื่อนำไปสร้างสรรค์นวตกรรมใหม่ๆ ทำให้ผมนึกไปถึงผู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายๆคนใช้กระบวนการคิดนอกห้องเรียนไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น สตีฟ จ๊อบ,บิล เกต,มาร์ค ซัคเคอร์เบิรก์
บางทีเราเองมักจะสร้างกรอบที่มองไม่เห็นกั้นตนเองจากประสบการณ์ใหม่ๆ,จากโอกาสที่อาจจะใช่ จนสุดท้ายเสียสิ่งดีๆไป แล้วมานั่งโทษตัวเองทีหลัง ไม่มีอะไรดีขึ้น เรามาลองทลายกรอบ ทลายสิ่งที่กั้นระหว่างห้องเรียนกับโอกาสดีๆ ณ แต่บัดนี้ เพื่อสิ่งดีๆที่รอเราอยู่จะดีกว่ามั๊ยครับ