ปัญหาสร้างปัญญา
“ปัญหาเมื่อตั้งใจมองให้ลึก คิด วิเคราะห์ แยกแยะให้ถี่ถ้วน จะพบว่าแทนที่จะเกลียดปัญญาเราจะรักปัญหามากขึ้น”
วันนี้เรามาพูดคุยกันแบบมีสาระแต่ไม่เครียดกันนิดหนึ่งครับ ว่าด้วยเรื่อง “การออกแบบหลักสูตรฝึกอบรม” ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันครับ
วิธีคิดที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการฝึกอบรม คือ “ปัญหา?” เราเริ่มต้นด้วยคำถามที่เกี่ยวกับปัญหาที่สำคัญคือ
– ปัญหา คือ อะไร?
– ปัญหาอยู่ตรงไหน?
– ใครเกี่ยวข้องกับปัญหานี้บ้าง?
เครื่องมือสำคัญของการตอบปัญหา 3 ข้อเบื้องต้นได้ คือ การระดมสมองโดยเปิดเวทีกว้างให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาได้พูดถึงปัญหาของตนที่พบเจอ โดยไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีการปิดกั้นทุกคนพูดได้เต็มที่ จดทุกประเด็นบนกระดานให้ทุกคนได้เห็น จากนั้นพยายามรวบรวมปัญหาที่คล้ายคลึงกันไว้กลุ่มเดียวกัน และต่อท้ายคือ การเรียงลำดับปัญหาจากความสำคัญมากสุดไปสู่ความสำคัญรองลงมา ถ้าปัญหามีเยอะเกินไปอาจจะต้องเลือกปัญหาสำคัญ 5 อันดับแรกก่อน
เมื่อปัญหาชัดเจนแล้ว แน่นอนครับ การแก้ปัญหาก็มีแนวทางที่ชัดเจนก็จะตามมา โดยเราจะนำวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้นมาบรรจุในเนื้อหาหลักสูตรและแปลงเป็นรูปแบบต่างๆที่ใช้ในกระบวนการฝึกอบรม เช่น การบรรยาย,การฝึกปฏิบัติการ,สถานการณ์จำลอง และวิธีอื่นๆตามความเหมาะสม โดยรูปแบบที่ใช้ในกระบวนการฝึกอบรมในปัจจุบันนิยมเน้นที่การมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมอบรมที่ได้คิด ได้ลงมือทำ เกิดไอเดียแบบปิ๊งแว๊บในกระบวนการฝึกอบรมได้ โดยวิทยากรมักจะถอยมาทำหน้าที่ “กระบวนกร”ที่เน้นการอำนวยความสะดวกกระตุกต่อมคิดให้ผู้เข้าอบรมได้คิดเอง ทำเองได้ มากกว่าที่จะทำหน้าที่สื่อสารทางเดียวเน้นบรรยายแบบสมัยก่อน
จะเห็นว่าปัญหาแท้ที่จริงแล้วมีความสำคัญมากต่อกระบวนการฝึกอบรม เรียกได้ว่าเป็นหัวขบวนของการฝึกอบรมก็ว่านั้น เพราะแท้จริงแล้วที่สุดของปัญหาก็คือสิ่งที่นำพาปัญญาให้เกิดขึ้น หากเราในฐานะ“ผู้ออกแบบหลักสูตรฝึกอบรม”ได้จับปัญหาได้อย่างแม่นยำ,วางเงื่อนไขในกระบวนการเรียนรู้และเลือกรูปแบบการฝึกอบรมได้เหมาะกับวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมาย ผมเชื่อมั่นว่า
ปัญหาจะสามารถนำพาให้เกิดปัญญาแน่นอนครับ