Training

สะพานเชื่อมโยงที่ชื่อว่า”เทคนิคฝึกอบรม”

         ในกระบวนการการออกแบบหลักสูตรฝึกอบรม  เมื่อเราได้ผ่านการระดมสมองกลั่นกรองจนคั้นเนื้อหาการฝึกอบรมออกมาแล้ว ขั้นตอนตอนมา คือ การวิเคราะห์พิจารณาหาแนวทางในการใช้สะพานที่จะเชื่อมโยงเนื้อหาไปสู่ผู้ฝึกอบรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมได้ ซึ่งสะพานที่เชื่อมโยงจากเนื้อหาไปสู่ผู้ฝึกอบรมก็คือ เทคนิคการฝึกอบรมนั้นเอง

      พูดถึงเรื่องเทคนิคการฝึกอบรม ผมเคยเห็นคนในวงการมักยกประเด็นเรื่อง เทคนิคไหนดีที่สุดมาอภิปรายกันบ่อยๆ บางสายก็บอกเรื่องการบรรยาย บางสายก็บอกทำกิจกรรมสร้างสรรค์ดีกว่า บางคนก็บอกว่าสัมนาสิดี จริงๆแล้วเมื่อมองลึกๆ ในความคิดของผม ผมมองว่า ไม่มีเทคนิคไหนดีไปกว่าเทคนิคไหน เราควรจะมองไปถึงเรื่อง ของความเหมาะสมกับผู้เข้าอบรม เพศ วัย จริตของการเรียนรู้ชอบแนวไหน จำนวนผู้ฝึกอบรม รวมถึงความเหมาะสมกับเนื้อหาของการฝึกอบรมมากกว่า เพราะที่พบเห็น การฝึกอบรมในหลักสูตรหนึ่งๆ ก็มักจะใช้เทคนิคหลากหลายวิธิ โดยเฉพาะหลักสูตรที่ต้องใช้เวลาหลายวันและเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการฝึกทักษะด้านบริหารและการทำงานเป็นทีม

      เทคนิคที่ผมมักนำมาใช้และพบเห็นในกระบวนการฝึกอบรมเท่าที่ผ่านมา ผมขอแบ่งเป็น 2 สายหลักๆ คือ การบรรยายและการใช้กิจกรรมเป็นแกน

     เทคนิคการบรรยาย เป็นเทคนิคที่คลาสสิกสุดๆ เมื่อกล่าวถึงเทคนิคฝึกอบรมมักจะถูกกล่าวถึงเป็นอันดับแรกเสมอ เป็นเหมือนเทคนิคเปิดนำก่อนไปสู่เทคนิคอื่นๆ หากเราย้อนไปสมัยเรียนเรามักจะคุ้นเคยกันกับเทคนิคนี้ ข้อดีของเทคนิคการบรรยาย คือ การถ่ายทอดเนื้อหาเต็มที่ อยากใส่อะไรก็ใส่ได้แบบไม่เกรงใจ ใช้ได้กับผู้อบรมกลุ่มใหญ่ แต่ข้อเสีย คือ เป็นการสื่อสารทางเดียวและเรามักประเมินได้ยากมากว่าเราใส่เข้าไปเท่าไหร่แล้วจริงๆแล้วเขาได้เท่าไหร่ ซึ่งหากเป็นการประเมินเชิงคุณภาพเราต้องไปดูเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอีกทีหนึ่ง สังเกตว่าคุณครูหรือวิทยากรยุคครูไหวมักจะถนัดเทคนิคนี้ และก็แปลก(ในสายตาผมนะ) ผมรู้สึกว่าเวลาที่คนบางคนในสายบรรยาย ที่เขาประเมินกันมักจะประเมินในแง่ของ วิทยากรพูดได้ดี ได้ครบ ลีลาเด็ด แค่ไหน (บางคนพูดจนเลยเวลาด้วยซ้ำ) แต่กลับประเมินไปที่ตัวผู้เข้าร่วมอบรมว่าได้อะไร? เอาไปใช้อะไร? น้อยมาก สรุปรวมแล้วเทคนิคการบรรยาย(ในความคิดของผม)จะออกแนวมองวิทยากรเป็นศูนย์กลางมากกว่ามองผู้เข้าอบรม

    เทคนิคการใช้กิจกรรม         เป็นเทคนิคที่ได้รับการยอมรับและได้รับความนิยมค่อนข้างมากในการฝึกอบรมในปัจจุบัน เพราะด้วยจุดเด่นที่มองผู้เข้าอบรมเป็นศูนย์กลาง เข้าใจในความต้องการและศักยภาพของผู้เข้าอบรม โดยหลักคือของการ จุดประเด็น ใช้สถานการณ์และมอบให้ผู้เข้าร่วมอบรมแก้ปัญหา โดยเฉพาะในลักษณะของทีมจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระดมสมองมากขึ้น วิทยากรจะปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้พูดหน้าชั้น ถ่ายทอดอยู่ทางเดียวมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก เร้า และที่ปรึกษาในระหว่างที่ผู้เข้าอบรมกำลังทำกิจกรรมกันอยู่

        สารภาพตามตรงว่าตัวผมเองเติบโตมากับการฝึกอบรมสายนี้ ในครั้งสมัยที่เราเป็นผู้ถูกอบรม เรารู้สึกว่าเราสนุกสนาน ตื่นเต้น และได้เปิดใจ เปิดสมองกับการอบรมด้วยการใช้เทคนิคการใช้กิจกรรมมากๆ ครั้นเมื่อได้กลายมาเป็นวิทยากรก็นำเทคนิคนี้มาใช้ประโยชน์เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคเกมส์การทำงานเป็นทีม เกมส์การบริหาร การจำลองสถานการณ์  ทำให้เรารู้สึกได้เลยว่า วิทยากรแท้ที่จริงก็ไม่ได้รู้ไปเสียทุกอย่าง วิทยากรต้องเปิดใจให้กว้างพอเพื่อที่จะมาเรียนรู้กับผู้อบรมซึ่งถือว่าเป็นครูของเราเช่นกัน

   สิ่งสำคัญของการจะใช้เทคนิคการใช้กิจกรรมมีส่วนสำคัญ หากเรามองว่าเล่นเอามันส์ เอาฮากันอย่างเดียว จะเป็นแต่เพียงการเล่นเพื่อผ่อนคลาย และไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปในที่สุด เพราะฉะนั้นเรามาดูกันว่า การใช้กิจกรรมมาสร้างสรรค์กระบวนการฝึกอบรมให้มีประสทิธิภาพทำอย่างไร

   ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. ชี้แจงวัตถประสงค์/กติกา เร้ากลุ่มและอารมณ์ผู้เข้าร่วม
  2. ดำเนินกิจกรรม ด้วยบรรยากาศการเร้า และย้ำกติกาที่ควรระวังเป็นพักๆ
  3. เร้าให้ถึงขีดสุดแล้วเบรกอย่างมีจังหวะ
  4. สอบถามความรู้สึกและสิ่งที่คับแค้นใจกับผู้เข้าอบรม
  5. วิทยากรสรุปให้เคลียร์ แบบเล่นให้ได้เรื่อง

     5ขั้นตอนคร่าวๆพอเป็นแนวไว้ก่อนแลัวผมจะค่อยๆทยอยขยายรายละเอียดและตัวอย่างกิจกรรมการฝึกอบรมเพื่อการบริหารการขาย บริหารธุรกิจมาแบ่งปันทีหลังครับ

       ย้ำนะครับว่า การเลือกใช้เทคนิคการฝึกอบรมให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่ว่าวิธีการใดก็แล้วแต่ควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ ผู้เข้าอบรมให้ชัดเจน เป็นหลักเพื่อนำไปสู่การฝึกอบรมเชิงคุณภาพต่อไป

graphics_training_head

tonypuy

ตั้งใจมากๆอยากให้การตลาดออนไลน์สร้างคุณค่าให้กับโลกใบนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.