มนุษย์ คือ นักทดลอง
ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ ช่วงหนึ่งที่เปลี่ยนผ่านอีกช่วงหนึ่งของชีวิต แต่จริงๆแล้ว ทุกวันก็ คือ วันที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่ความรู้สึกช่วงวันพิเศษแบบนี้เราก็สามารถรู้สึกได้แบบจริงจังและคำโตๆหน่อย
วันนี้ผมได้มีโอกาสไปทำบุญกับครอบครัวที่องค์พระปฐมเจดีย์ สบายใจที่ลูกสาวกระตือรือร้นที่จะจุดธูป ถวายดอกไม้ รวมถึงอยากจะสรงน้ำพระด้วยตัวเธอเอง เห็นแล้วก็ยิ้มๆ ถ้าบุญ คือ ความสุข ความสบายใจ ผมรู้สึกแบน้นที่ลูกสาวทำแบบนั้นนะ
ขณะที่ผมเดินชมรอบๆองค์พระปฐมอยู่นั้น จะพบว่ามีพระพุทธรูปปางต่างๆอยู่รายล้อมฐานเจดีย์ขององค์พระปฐม หนึ่งในรูปแบบที่ผมเห็น คือ การบำเพ็ญเพียรทุขกริยาของพระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ ผมพลันนึกไปถึงศักยภาพของมนุษย์หลายๆอย่างที่กว่าจะทำอะไรสำเร็จนั้นต้องผ่านการลองผิดลองถูกทดลองผ่านมาหลายครั้ง บางคนเป็นพัน บางคนเป็นหมื่นครั้ง
เคยได้ยินกูรูบางท่านเคยกล่าวไว้ว่า ไม่สำคัญว่าจะล้มเหลวหรือไม่แต่สำคัญตรงที่ล้มแล้วจะลุกได้ทุกครั้งหรือเปล่า การลองผิดลองถูก ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แท้ที่จริง คือ มาตรวัดระดับความสำเร็จนั้นเอง ล้มเหลวเยอะ เรียนรู้เยอะ ก็มีสิทธิสำเร็จเยอะ ไม่ค่อยล้มเหลว แถมไม่เรียนรู้ ก็เพราะไม่ค่อยได้ทำอะไรนั่นเอง
การลองผิดลองถูกของพระพุทธเจ้า ใช้ทั้งสุดยอดของความเพียร ใช้ทั้งสุดยอดของความมุ่งมั่น ใช้ทั้งสุดยอดของปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้จากความล้มเหลว ท่านจึงจะสามารถตรัสรู้สำเร็จมรรคผลนิพพานได้
มนุษย์ตัวน้อยๆอย่างเรานี้คงต้องรู้จักเป็นนักทดลองที่สนุกกับการแก้ปัญหาเมื่อเกิดอุปสรรค และยอมรับพร้อมเรียนรู้กับความล้มเหลว จากนั้นใช้ความมุ่งมั่นและความเพียรที่มากพอที่จะผลักดันตนเองไปสู่ความสำเร็จได้ ผมเชื่อว่าโดยศักยภาพที่แท้จริงของมนุษย์ทุกคนสามารถเป็นมนุษย์นักทดลองที่ชาญฉลาดได้ เพียงแต่ว่าเราจะยอมรับตรงนั้นและพร้อมที่จะดึงมันออกมาใช้หรือไม่แค่นั้นเอง
คุณสมบัติของมนุษย์นักทดลองที่ชาญฉลาด
- เชื่อมั่นในการพัฒนาศักยภาพตนเอง ว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาวิธีคิดได้ด้วยการเรียนรู้
- ไม่เข้าข้างตัวเองมากเกินไป
- รู้จักสังเกตและติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
- ไม่ถอยง่ายๆกับบททดสอบที่ชื่อว่าอุปสรรค
- ไม่ผิดเรื่องเดิมบ่อยๆ
- กล้าที่จะเปลี่ยนหากดันทุรังไปแล้วยังไงมันก็ไม่ใช่
- กล้าที่จะให้คนอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง
- เมื่อถึงบทสรุปจงถามคำถามต่อ