รู้อะไร? เพื่ออะไร? และอย่างไรต่อ ?
เราเติบโตไปพร้อมกับการรับรู้ การรับรู้ที่ขยายกว้างขึ้น การเติบโตทางความคิดและพัฒนาการของเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ทำให้เราได้เจอะเจอกับสิ่งที่ไม่เคยเจอมากมาย ประเด็นสำคัญ คือ เราเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นเพื่อ ? และอย่างไรต่อ ?
เมื่อครั้งยังเด็ก เราอาจตื่นเต้นกับการงอกขึ้นเป็นต้นอ่อนของต้นอ่อนข้าวโพด แต่เมื่อเติบใหญ่เรากลับมองข้ามจนเผลอเหยียบมันจนแบนติดดิน ไม่สนด้วยซ้ำว่ามันเป็นต้นอะไร หรือ เมื่อยังเด็กเราอาจตื่นเต้นกับรอบรั้วบ้าน สนุกกับนกน้อย ร่าเริงดอกไม้ริมรั้ว แต่เมื่อเติบใหญ่เรารีบร้อนกระโจนออกนอกรั้วเพื่อภารกิจที่ตนเองไม่ได้พอใจอยากจะทำแต่ก็ต้องทำเพื่อความอยู่รอด ไม่สนใจแม้จะมองผีเสื้อแสนสวยที่เกาะอยู่ดอกไม้สุดแจ่มที่อยู่ข้างรั้วนั้น
เรามักอึดอัดกับความไม่รู้ และพยายามดิ้นรนให้ตัวเองรู้เพื่อให้อยู่รอดและสบายใจมากขึ้น เมื่อยังเด็กการรับรู้และประสบการณ์อาจยังมีจำกัด เราจึงไม่ต้องคิดมากที่จะมีความสุขได้แบบง่ายๆ กับสิ่งรอบตัว แต่เมื่อเติบโตการรับรู้ขยายกว้างและลึกซึ้งมากขึ้น ความซับซ้อนมีมากขึ้นไปตามลำดับของประสบการณ์ที่เราพบเจอ การหาความสุขมันกลับเป็นเรื่องซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น
เคยไหม ? เสียเวลาเรียนรู้มาตั้งนานแต่กลับเห็นว่ามันไม่มีประโยชน์เอาสะเลย…..
รู้มากมาย ไยกลับยังห่างความสุข แบกแต่ความทุกข์หนักขึ้นอยู่ทุกวัน เทคโนโลยีก้าวหน้า แต่หนทางคลายทุกข์ยิ่งหายากลงทุกวัน ทุกวัน
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเคยเปรียบสิ่งทีที่เราควรจะรู้เพื่อกระตุกตุ้นปัญญาให้พ้นทุกข์นั้นเปรียบเหมือนใบไม้ในกำมือเดียว ส่วนใบไม้ที่เหลือนอกนั้นไม่ได้ยังประโยชน์ต่อการพ้นทุกข์ ก็ไม่ควรจะนำมากล่าวและเสียเวลาเรียนรู้ให้เสียเวลา
ฉะนั้นหากปลายทาง คือ การพ้นทุกข์ ทำไมเราถึงต้องไปเสียเวลาระหว่างทางกับสิ่งที่ไม่ใช่ ทางลัดสั้นอาจไม่มีแต่ทางที่มันดูน้อยแต่ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้แบบไม่เสียเวลาก็มีอยู่ ขึ้นอยู่กับเรานี้ละจะเลือกมันด้วยตนเองไหม ?
ต่อไปคงจะต้องถามตัวเองให้ชัดว่า รู้อะไร? เพื่ออะไร? และอย่างไรต่อ ? เพื่อไม่ให้หลงทางไปก่อนจะสาย