“แก่” ก็แค่ทัศนคติ
นิยามคำว่า “แก่” คืออะไร ? งุ่มงาม หลงๆลืมๆ หรืออะไรต่อมิอะไรที่ว่ากันไป แท้จริงสิ่งเหล่านี้มันเป็นแค่การอุโลกน์หรือเป็นแบบนั้นตามสภาวะจริง
จริงๆอยู่ว่าใดใดในโลกล้วนอนิจจัง มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แม้กระทั่งสภาพร่างกายนั้นมีแต่งตึงได้ก็มีหย่อนยานในที่สุด ในเชิงกายภาพทุกอย่างดำเนินไปสู่ความเสื่อมตามกฎธรรมชาติ
นอกจากการดำรงค์ชีวิตอยู่ด้วยกายภาพแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เป็นคนได้อยู่ทุกวันนี้คือ องค์ประกอบภายใน อันมีส่วนในการควบคุมยานแม่(ร่างกาย) ก็คือ “จิต” นั้นเอง
ได้ยินบ่อยๆคือ จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว และจริงๆแล้วมันชัดยิ่งกว่าชัดจริงๆ (อย่าเพิ่งเชื่อผมจนกว่าจะพิสูจน์และรู้ได้ด้วยตนเอง)
หากจิตหมกมุ่นอยู่กับอะไรบ้างอย่าง เราจะจมอยู่กับสิ่งนั้นและสุดท้ายมันจะเป็นไปในแบบนั้นจริงๆ
หากเราคิดว่า “แก่” คือความงุ่มงาม เชื่องช้า ขี้หลงขี้ลืม เรียนรู้ได้ยาก ไม่ทันเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้จะตอกย้ำซำ้เติมตัวเองให้ยิ่งแย่ แย่จนหดหู่ ไม่อยากเรียนรู้ จนรู้สึกว่าการใช้ชีวิตแบบคนแก่นี้มันยากแสนยากจริงๆ
ในทางกลับกันลองมองคำว่า “แก่” คือโอกาสของการดูแลสุขภาพ เลือกกินแต่สิ่งที่มีประโยชน์ เป็นวัยที่มากด้วยประสบการณ์นำมาสร้างประโยชน์ได้มากมาย และที่สำคัญคือเป็นวัยที่พร้อมเริ่มเรียนรู้ใหม่ได้ตลอดเวลา พึ่งพาตัวเองได้ หัวเราะได้เต็มที่แบบไม่เกรงใจเหงือก ใช้ปัจจุบันขณะให้คุ้มค่ากับเวลาที่เหลือ คุณจะเลือก “แก่” แบบไหน ?
ในความคิดผม จริงๆแล้วความ “แก่” หากมองทางกายภาพก็คือความเสื่อมสภาพตามกฎธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าภายในจิตใจจะเสื่อมสภาพตามร่างกายไป มันเป็นเรื่องทัศนคติที่จะทำให้ความแก่มันจัดการกับเรา หรือเราจะลึกขึ้นจัดการกับมันก่อน
จะแก่แค่ไหนแต่หัวใจมันยังเด็กได้ โลกนี้มันก็สวยงามไปจนลมหายใจสุดท้ายได้