เทคนิคการทำกิจกรรม

หาเรื่องทำ”กิจกรรม”กับ Tonypuy ตอน : การทำกิจกรรมคือแบบฝึกหัดของทักษะชีวิต (เกริ่นนำ)

ด้วยที่ว่าคันไม้คันมือเหตุจากการลงไม้ลงมือ สนุกสนาน ฟินละมุนกับการทำกิจกรรมการเรียนรู้กับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายแต่หลักๆจะเน้นไปกลุ่มเด็กๆประถมถึงมัธยม อารมณ์มันพุ่งพล่านไปกับการร่วมเรียนรู้ แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมเดิมแต่มันใหม่ไปเรื่อยเพราะกลุ่มเป้าหมายมันต่าง เก็บไว้คนเดียวคงไม่ไหวจึงอยากละบายออกมาเป็นซีรี่ย์ยาวๆ กับ ซีรี่ย์ในแบบเล่าไปเรื่อยในแบบถอดบทเรียนชีวิตมาตีแผ่กับ 20 กว่าปีในการทำกิจกรรม ในท้องเรื่อง หาเรื่องทำ”กิจกรรม”กับ Tonypuy 

การทำกิจกรรมคือแบบฝึกหัดของทักษะชีวิต

เสน่ห์ของการทำกิจกรรมที่น่าหลงใหล

ตอนที่ทำกิจกรรมเรารู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเนื้อเดียวแบบไหลๆไป เราได้หัวเราะ เราได้สนุก หรือแม้กระทั่งอาจจะเศร้าๆบ้างในตอนแลกเปลี่ยนประสบการณ์แต่ยังไงมันก็เป็นรสชาติที่สุดแสนจะกลมกล่อมในการทำกิจกรรม เรารู้สึกถึงการเปิดกว้างสู้พื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ยิ่งช่วยกันสร้างบรรยากาศไปถึงจุดแห่งความไว้ใจ เชื่อใจ และได้ใจ เวลาเช่นนั้นย่อมจะถือได้ว่าเป็นเวลาทองของความเป็นมนุษย์ที่เชื่อมโยงกัน…มองตาก็เข้าใจจ้าาา

อีกอย่างคือ การทำกิจกรรมที่แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมเดิมแต่ทำกับกลุ่มใหม่ มันก็เหมือนกับว่าคือสิ่งใหม่ๆสำหรับเรา ฉะนั้นความสนุก ตื่นเต้น มันไหลออกมาจากใจได้แบบไม่มีวันหมด เราคิดเสมอว่าทุกสิ่งอย่างที่กำลังลงมือทำ คือ การเรียนรู้ทั้งนั้น บอกตัวเองเสมอว่ารออะไรอยู่ลุกขึ้นสิ ความท้าทายรออยู่โน้นไง

อาจจะสรุปได้ในแบบตัวเองสั้นๆว่า การทำกิจกรรม คือ การขัดเกลาตัวเองด้วยการทำงานร่วมกับคนอื่น ประมาณนั้น

แนวทางการทำกิจกรรม

เรากำลังจะทำอะไร เพื่ออะไร กับใคร  ทำอย่างไร และจะให้ไปจบตรงไหน นี้น่าจะเป็นชุดคำถามสำคัญก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรม

ขยายความออกมาดังนี้

  1. ตั้งสติเช็คตัวเองให้ดีว่ากำลังจะทำอะไร เน้นการรู้เนื้อรู้ตัวให้ทั่วพร้อม เช็คความทันทันอารมณ์และความรู้สึก ว่าเรากำลังจะทำกิจกรรมเพื่อสลายตัวตนของตัวเอง มิใช่ ทำกิจกรรมเพื่อเข้าควบคุมความคิดและการกระทำผู้อื่น
  2. ทำเพื่ออะไร อันนี้คือเราต้องตอบตัวเองให้ชัดอันจะนำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน ไม่หลงทาง ถ้าทำเพื่อเงินอย่างเดียวก็น่าเสียดายอยู่ แต่หากทำเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น เช่น การพัฒนาต่อยอดตัวเองหรืออะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น เราจะทำมันอย่างสุดใจโดยไม่มีเงื่อนไขและแม้มีอุปสรรคมากแค่ไหนเราก็ผ่านมันไปได้ทั้งหมด มองให้พ้นตัวเข้าไว้นะครับ แล้วทุกอย่างมันจะงดงาม
  3. ทำกับใคร ใช่เลยหัวใจสำคัญ คือ ตรงนี้ คือตรงกลุ่มเป้าหมายที่เราจะทำกิจกรรมร่วมกับเขา เราอาจต้องรู้ให้ได้ลึกไปกว่า อายุ ระดับการศึกษา นั้นคือรู้ว่าเขากำลังมีปัญหาอะไรกัน เขาต้องการเติมเต็มในส่วนไหน อะไรคือสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายเชื่อถือ เราต้องมองให้เห็น กลุ่มเป้าหมาย คือ มนุษย์จริงๆครับ
  4. ทำอย่างไร เอาละมาถึงขั้นของการจะทำอย่างไร ขั้นตอนเป็นแบบไหน เอาสั้นๆก่อนขยายความในโอกาสถัดไป คือ เกริ่นนำ ดำเนินกิจกรรม และสรุปจบ มีเพียงเท่านี้จริงๆ อารมณ์เหมือนดูหนังครับ เปิดเรื่องได้ตื่นเต้นเร้าใจ ดำเนินเรื่องได้น่าติดตามไม่น่าเบื่อ สนุกอยู่ตลอด ลุ้นตลอด ปิดจบได้อย่างสวยงาม ถ้าทำกิจกรรมให้เป็นแบบนี้ก็เยี่ยมเลยครับ
  5. ให้ไปจบตรงไหน ขึ้นอย่างสวยแต่ลงไม่เป็นท่า ก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หากปูมาดีจบก็ต้องดีด้วยไม่งั้นจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า เสียดายของ เสียดายเวลา และสุดท้ายอาจเสียอารมณ์ ต้องวางแผนที่จะจบให้สวยเพื่อที่จะนำไปต่อยอดตามวัตถุประสงค์ ไม่ออกนอกลู่นอกทางจนกลับไม่ถูก ไม่งั้นเราจะเสียเปล่าในสิ่งที่ทำมา

ผลของการทำกิจกรรม

I’m OK , You ‘re OK and We ‘re OK น่าจะเป็นสิ่งที่งดงามที่สุดหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม ทุกคนมีความสุขกันถ้วนหน้า และการจะนำไปต่อยอดอะไรต่อนั้น คือ เรื่องที่ต้องสานต่อ สำหรับคนทำกิจกรรม การเก็บรับความรู้สึกดีๆเอามาเป็นพลังสะสมประสบการณ์จากกลุ่มเป้าหมายนี้ไปมอบต่อให้กลุ่มเป้าหมายต่อไปนับว่าเป็นสิ่งที่น่าปลื้มจิตสะนี่กระไร

tonypuy

รักเรียนรู้ กู้บ้างพอเป็น drive รักท่วงทำนองดนตรี ครีเอตคอนเทนต์ไปเรื่อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.