มนุษย์เจ้าปัญหาเชิงสร้างสรรค์
“มนุษย์เจ้าปัญหา” มักใช้ในการสื่อสารไปในแง่ลบ แต่ในความคิดของผมนั้น มนุษย์เจ้าปัญหาที่รู้จักใช้คำถามเพื่อเปิดประเด็นให้เกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยน จนนำไปสู่การเกิดการแก้ปัญหาและกลายเป็นภูมิปัญญา มนุษย์ปัญหาประเภทนี้ผมอยากจะเรียกว่า มนุษย์เจ้าปัญหาเชิงสร้างสรรค์ครับ
เคยได้ยินคำปราชญ์ท่านว่าไว้ว่า “คำถามสำคัญกว่าคำตอบ” ผมเห็นด้วยกับเรื่องนี้มากๆครับ สังเกตนวตกรรมรอบตัวที่สร้างความสะดวกสบายและสามารถแก้ปัญหาให้เราหลายๆอย่างล้วนแต่เกิดจากคำถามที่เกิดจากการสังเกตทั้งนั้น
คนที่มีคำถามเยอะๆ ดูจนเป็นเรื่องพาวุ่นวาย หนักหน่อยเขาก็ยกย่องให้เป็น “มนุษย์เจ้าปัญหา”
ผมมองว่ามนุษย์เจ้าปัญหาที่หลายๆคนอาจมองไปในทางลบๆ ก็เพราะว่าคำถามของมนุษย์เจ้าปัญหาเหล่านั้น มันดูไม่สร้างสรรค์ ถามเหมือนไม่อยากจะรู้จริงๆ ถามเสร็จเดินหนีก็มี บางคำถามก็ผิดกาละเทศะจนสร้างความแตกแยกให้วงประชุม มนุษย์เจ้าปัญหาแบบนี้เข้าแก๊งค์ไหน ก็วงแตกทุกแก๊งค์ครับ
ผมอยากแนะนำให้รู้จักกับมนุษย์เจ้าปัญหาพันธุ์ดีที่ชื่อว่า “มนุษย์เจ้าปัญหาเชิงสร้างสรรค์” ซึ่งมีลักษณะดังนี้ครับ
- ดูท่าทางเหมือนจะทึ่มๆไม่ประสีประสา แต่ให้ออกความคิดเห็นหรือตั้งคำถาม อึ้งไปเลยครับ
- เขาจะเป็นผู้ฟังที่ดี และเมื่อจะแทรกเขามีจังหวะที่เหมาะสม
- คำถามที่ใช้ ทรงประสิทธิภาพ กระตุกแนวคิด นำไปสู่ทางออกของปัญหาที่หลากหลาย
- เขาจะไม่บังคับให้เราเชื่อ แต่เขาจะพยายามกระตุ้นให้เราต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง
- คำถามของเขาแตกยอดไปสู่คำถามใหม่ๆเชิงสร้างสรรค์ได้มากมาย
- ไม่ใช่คำถามลองภูมิ แต่เป็นคำถามจูงใจให้เราใช้ศักยภาพของเราออกมาแก้ปัญหาให้เต็มที่และชาญฉลาด
- ให้เกียรติกับเพื่อนร่วมงานและผู้ถูกถามเป็นอย่างสูง
มนุษย์ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ หากท่านมีเขาไว้ในองค์กร รับรองเลยว่าจะทำให้องค์กรท่านพัฒนาเติบโตไปอย่างยั่งยืนแน่นอน ว่าแต่ว่าท่านหาเขาเจอหรือยัง ?